วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โบราณสถาน -โบราณวัตถุ


เมืองโบราณยะรัง - มัสยิดกรือเซะ - มัสยิดดาโต๊ะ - มัสยิดบูกิตบาโงยลางา - พลับพลาที่ประทับ ร.7 



     
                                           

           เมืองโบราณยะรัง เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองตำบลยะรัง และตำบลวัด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี การเดินทาง
ไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ
15 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4061) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณ
และเลี้ยวซ้ายขึ้นไป ทางทิศเหนือประมาณ 400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากจังหวัด
ปัตตานี หรือประมาณ 25 กิโลเมตร จากจังหวัดยะลา
          เมืองโบราณยะรังเป็นชุมชนสมัยเริ่มแรกประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย      และเชื่อว่าเป็นที่ตั้ง
อาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า "ลังกาสุกะ" หรือ "ลังยาเสียว" ตามที่หลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ย่อมแสดง
ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้ทะเล มีอาณาเขตกว้างขวางเป็นดินแดนที่มั่งคั่ง มีบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองเกี่ยวข้องกับดินแดน
ที่มั่งคั่งมีบทบาททางเศรษฐกิจการเมือง  เกี่ยวข้องกับดินแดนใกล้เคียงอยู่เสมอ  และได้ทำการติดต่อค้าขายสินค้า  เช่น  ไม้กฤษณา
การบูร ฯลฯ กับชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งมีความเจริญขึ้นและพัฒนาสืบต่อเรื่อยมาอีกหลายสมัย
นับเวลาเป็นพันปี ดังที่มีหลักฐานเป็นร่องรอยของคูน้ำ-คันดิน คูเมืองและซากเนินดินโบราณสถานในท้องที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานีในปัจจุบัน
          ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง คาดว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรเป็นเมืองที่มีการสร้าง
ทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกันจากพื้นที่ตำบลวัดของอำเภอยะรังไปทางทิศเหนือในพื้นที่ตำบลยะรัง ประกอบด้วย

           ๑. เมืองโบราณบ้านวัด   มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณกระจายอยู่โดยรอบ
กว่า 25 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ
          ๒. เมืองโบราณบ้านจาเละ   มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำโอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทาง
ทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
          ๓. เมืองโบราณบ้านประแว   เป็นเมืองคูน้ำ-คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง 4 มุมเมือง และ
มีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ทั้ง 2 ด้าน
          นอกจากร่องรอยของคูน้ำ-คันดินคูเมืองโบราณทั้ง 3 แห่งแล้ว ภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้   ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดิน
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 แห่ง
          ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองโบราณนี้ โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่กลุ่ม
โบราณสถานบ้านจาเละซึ่งมีโบราณสถานรวม 5 แห่ง ได้ทำการขุดแต่งเสร็จแล้วบางแห่งและได้พบหลักฐานโบราณวัตถุที่สำคัญ  โดย
เฉพาะอย่างยิ่งโบรษรสถานบ้านจาเละ หมายเลข 3
          โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 เป็นศาสนสถานก่อด้วยดิฐ มีฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมเป็นมุขที่กึ่งกลางฐานและมุมฐาน
ทั้ง 4 ด้าน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนบนถากอิฐเป็นเสา และหน้าต่างลอกเลียนแบบอาคารไม้ บนลานประทักษิณมีรางระบายน้ำ
ทำด้วยหินทราย อาคารตอนบนเป็นรูปกากบาท ภายในเป็นห้องขนาดใหญ่พบชิ้นส่วนของพระพิมพ์ดินดิบ และสถูปจำลองดินเผาจำนวน
มากทั่วทั้งห้อง และกระจายหนาแน่นในบริเวณด้านหน้าของโบราณสถานลงมาถึงพื้นเบื้องล่าง
          พระพิมพ์ดินดิบ และสถูปจำลองดินเผาบางชิ้นปรากฏหลักฐานมีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ เป็นคาถาเกี่ยวเนื่องกับ
พระพุทธเจ้า ซึ่งวัตถุต่างๆ เหล่านี้คงถูกสร้างขึ้นและนำมาบูชาไว้ ณ ศาสนสถานตามคติความเชื่อในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน นิกาย-
เจติยวาท ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ในสมัยคุปตะ และปาละ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรณที่ 12 เป็นอย่างน้อย
และคงเจริญสืบต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ก่อนที่จะเสื่อมสลายไปในระยะเวลาต่อมา จนกระทั่งศาสนาอิสลามเข้ามาแทน
ที่  และได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับของประชาชนต่อเรื่อมาจนถึงปัจจุบัน   (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10
สงขลา กรมศิลปากร) top


   
       มัสยิดกรือเซะ    มัสยิดเป็นภาษาอาหรับ ชาวปัตตานีเรียกมัสยิดอีกชื่อหนึ่งว่า สุเหร่า ตามคำที่ได้รับถ่ายทอดมาจากชาว เมือง
มะนังกาเบาในเกาะสุมาตรา หมายถึง สถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม มัสยิดกรือเซะมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า มัสยิด"ปิตูกรือบัน"
เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแบบโคธิคของชาวยุโรป  (ช่องประตูแบบโคธิคนี้ นิยมกันมาแต่สมัยสมเด็จ-
พระนารายณ์มหาราช ;ปิตู=ประตู ; กรือบัน=ช่องประตูที่มีรูปโค้ง) และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (สภาพก่อนบูรณะ
กว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะแบบเสาโคธิคของยุโรป อิฐที่ใช้ก่อมีลักษณะเป็นอิฐ
สมัยอยุธยาแต่ตรงฐาน มีอิฐรูปแบบคล้ายสมัยทราวดีปะปนอยู่บ้าง ; ภาพซ้ายมือ)  หนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยีหวันหะซัน
กล่าวว่า สุลต่านลองยูนุสเป็นผู้สร้าง ประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่ก่อสร้างไม่
เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยูนุสกับระตูปะกาลัน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่าน-
ลองยูนุสสิ้นพระชนม์ ระตูปุยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปุยุด ปัจจุบัน
อยู่ในเขตท้องที่ตำบลปุยุด อ.เมืองปัตตานี บริเวณที่ตั้งวังของระตูปุยุดยังคงปรากฎเป็นร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้ จึงไม่มีผู้ใดคิดสร้าง
ต่อเติมมัสยิดอีก ทิ้งไว้รกร้าง
          บางตำนานเล่าลือกันสืบมาว่า  ผู้สร้างเป็นชาวจีนชื่อ เคี่ยม แซ่ลิ้ม เมื่อแต่งงานกับธิดารายา เมื่อเข้ารีตรับศาสนาอิสลาม ชาว
ปัตตานีเรียกว่า "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" ลิ้มกอเหนี่ยวน้องเดินทางมาตามพี่ชายให้กลับเมืองจีน เพื่อดูแลมารดาที่ชราตามประเพณีของชาวจีน
ด้วยลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นบุตรชายคนโต แต่พี่ชายไม่ยอมกลับ นางมีความน้อยใจที่อ้อนวอนพี่ชายไม่สำเร็จจึงทำ อัตตวินิบาตกรรม  แต่
ก่อนที่นางจะผูกคอตายนางได้ตั้งอธิษฐาน ขอให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างมัสยิดไม่สำเร็จด้วยแรงแห่งคำสาปแช่ง ในกาลต่อมาลิ้มโต๊ะเคี่ยม
ได้พยายามทำการสร้างต่อเติมหลังคาและโดมถึง ๓ ครั้ง แต่ละครั้งมื่อก่อสร้างไปจวนจะเสร็จ ก็เกิดอสุนิบาตฟาดโดม และหลังคาพัง
ทลายลงมาทุกครั้ง จนกระทั่งปัจจุบันไม่มีใครกล้าสร้างต่อ คงเหลือไว้แต่ซากจนตราบเท่าทุกวันนี้
          มัสยิดกรือเซะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันนี้ทางราชการได้บูรณะ
มัสยิดแห่งนี้ให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงบริเวณโดยรอบแต่ลักษณะการก่อสร้างยังคงสภาพเดิมไว้ และได้สร้างรั้วล้อมรอบมัสยิดเอาไว้
ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
          มัสยิดกรือเซะตั้งอยู่หมู่ ๒ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖-๗ กิโลเมตรเศษ
มีบริเวณชิดติดต่อกับถนนสายปัตตานี-นราธิวาส top


          มัสยิดดาโต๊ะ ตั้งอยู่ที่สะบารังตันหยงหรือแหลมฝั่งตรงข้ามกับเมืองปัตตานีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัสยิดดารุล-นาอีม เป็น มัสยิด
ที่มีความสำคัญต่อพ่อค้านักเดินเรือที่นับถือศาสนาอิสลามมาก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ เหมือน กับ
มัสยิดกรือเซะ และได้รับการบูรณะหลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ ปัจจุบันจึงยังคงสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง top


          มัสยิดนัจมุดดิน (ควนลังงา) เดิมชื่อสุเหร่าบาโงยลางา (Banggol Labggar) สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๐ เป็นสุเหร่าร่วมสมัย
กับมัสยิดตะโละมาเนาะ และสุเหร่าเอาห์ (นัดตันหยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี) ศิลปะการก่อสร้างแบบมลายูชวา สร้างโดยชุมชน
ท้องถิ่น สุเหร่าแห่งนี้มีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเขียนมือซึ่งเป็นหญิงชราที่หนีภัยสงครามมาพำนักในหมู่บ้านแห่งนี้ ดังนั้นพระมหาคัมภีร์
อัลกุรอาน จึงได้ประดิษฐานในมัสยิดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน ประมาณ ๔๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ชุมชนย้านปาเซปูเต๊ะ (บ้านทรายขาว)ได้ร่วมกัน
ริเริ่มสร้างสถานที่นมัสการพระผู้เป็นเจ้า จึงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาสแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยออกแบบแปลนมัสยิด ประกอบกับยุคสมัยที่
ศาสนาอิสลามได้เป็นที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วหลังจากพญาตูนาคะแห่งราชอาณาจักรมลายูลังกาสุกะ ได้เปลี่ยนจากพุทธศาสนามาเป็น
กษัตริย์มุสลิมองค์แรกในนามสุลต่าน อิสมาอีลชาล์ แห่งราชอาณาจักรปาตานีคารุสลาลาม ฉะนั้น มัสยิดบูกิตบาโงยลางา (ควนลางา)
จึงมีศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสืบสานมรดกราชอาณาจักรลังกาสุกะ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างชื่อ ไม้แค (หรือ
กายูจีจา) ได้มาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี บูกิตบือซา กระเบื้องอิฐแดงจากปัตตานี มัสยิดแห่งนี้จะคล้ายกับมัสยิดตะโละมาเนาะ และ
สุเหร่าอาโฮ นัดตันหยง ทั้ง 3 แห่งนี้มีความเหมือนกัน คือ ไม่ใช้ตะปูในการก่อสร้าง top


          พลับพลาที่ประทับ   เป็นพลับพลาที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการ
อำเภอโคกโพธิ์ และที่ตั้งของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งแวดล้อมด้วยชุมชนขนาดใหญ่ จึงไม่มีปัญหาการทำลายจากชุมชน  มีเนื้อที่ประมาณ
1 ไร่ 8 ตารางวา ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2518
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินมา
จังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ.๒๔๗๒ โดยเสด็จฯ ทางชลมารค (เรือพระที่นั่งมหาจักรี) จากพระราชวังไกลกังวล ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม
พ.ศ.๒๔๗๒ คณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษและเยอรมัน ได้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์มาติดตั้งกล้องเพื่อส่องสุริยุปราคาเต็มคราส
ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งนักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นคำนวณว่า  ที่จังหวัดปัตตานีสามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มคราสชัดเจนกว่าจังหวัดอื่นๆ
โดยคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้ติดตั้งกล้องและอุปกรณ์บริเวณสนามหญ้าใกล้ศาลารัฐบาลมณฑลปัตตานี ส่วนนักดาราศาสตร์
ชาวเยอรมันได้มาติดตั้งกล้องและอุปกรณ์บนภูเขาหลังที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์  และทั้ง 2 คณะได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราช-
ดำเนินเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มคราสในวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 ส่วนของมณฑลปัตตานีในสมัยนั้นได้สร้างพลับพลาที่ประทับ
ของพระเจ้าอยู่หัวทั้งที่ปัตตานีและที่อำเภอโคกโพธิ์ และเมื่อถึงวันดังกล่าว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้เสด็จไปทั้ง 2 จุดแต่เนื่องจากบริเวณอำเภอ
โคกโพธิ์ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มไม่สามารถมองเห็นสุริยคราสได้ชัดเจนพระองค์จึงเสด็จทอดพระเนตรที่ในตัวจังหวัดปัตตานี (บริเวณ
สนามโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) top
จัดทำโดย....สำนักงานคลังจังหวัดปัตตานี    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น