วันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โบราณสถาน -โบราณวัตถุ


เมืองโบราณยะรัง - มัสยิดกรือเซะ - มัสยิดดาโต๊ะ - มัสยิดบูกิตบาโงยลางา - พลับพลาที่ประทับ ร.7 



     
                                           

           เมืองโบราณยะรัง เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองตำบลยะรัง และตำบลวัด อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี การเดินทาง
ไปสู่แหล่งเมืองโบราณสามารถใช้เส้นทางสิโรรส (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410) จากจังหวัดปัตตานีลงไปทางจังหวัดยะลาประมาณ
15 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือสายยะรัง-มายอ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4061) ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เข้าสู่เขตเมืองโบราณ
และเลี้ยวซ้ายขึ้นไป ทางทิศเหนือประมาณ 400 เมตร ถึงเขตโบราณสถานบ้านจาเละ เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากจังหวัด
ปัตตานี หรือประมาณ 25 กิโลเมตร จากจังหวัดยะลา
          เมืองโบราณยะรังเป็นชุมชนสมัยเริ่มแรกประวัติศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย      และเชื่อว่าเป็นที่ตั้ง
อาณาจักรโบราณที่มีชื่อว่า "ลังกาสุกะ" หรือ "ลังยาเสียว" ตามที่หลักฐานปรากฎในเอกสารของจีน ชวา มลายู และอาหรับ ย่อมแสดง
ว่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญตั้งอยู่ใกล้ทะเล มีอาณาเขตกว้างขวางเป็นดินแดนที่มั่งคั่ง มีบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองเกี่ยวข้องกับดินแดน
ที่มั่งคั่งมีบทบาททางเศรษฐกิจการเมือง  เกี่ยวข้องกับดินแดนใกล้เคียงอยู่เสมอ  และได้ทำการติดต่อค้าขายสินค้า  เช่น  ไม้กฤษณา
การบูร ฯลฯ กับชาวต่างประเทศอย่างกว้างขวางมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ซึ่งมีความเจริญขึ้นและพัฒนาสืบต่อเรื่อยมาอีกหลายสมัย
นับเวลาเป็นพันปี ดังที่มีหลักฐานเป็นร่องรอยของคูน้ำ-คันดิน คูเมืองและซากเนินดินโบราณสถานในท้องที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานีในปัจจุบัน
          ลักษณะของเมืองโบราณยะรัง คาดว่า มีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรเป็นเมืองที่มีการสร้าง
ทับซ้อนกันถึง 3 เมือง ขยายตัวเชื่อมต่อกันจากพื้นที่ตำบลวัดของอำเภอยะรังไปทางทิศเหนือในพื้นที่ตำบลยะรัง ประกอบด้วย

           ๑. เมืองโบราณบ้านวัด   มีศูนย์กลางเป็นลานจัตุรัสกลางเมือง ล้อมรอบด้วยคูน้ำและมีซากเนินดินโบราณกระจายอยู่โดยรอบ
กว่า 25 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทิศตะวันตก และทางทิศเหนือในบริเวณพื้นที่บ้านจาเละ
          ๒. เมืองโบราณบ้านจาเละ   มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำโอบล้อมด้วยคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมถัดจากกลุ่มโบราณสถานบ้านวัดขึ้นไปทาง
ทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร
          ๓. เมืองโบราณบ้านประแว   เป็นเมืองคูน้ำ-คันดินขนาดเล็กที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่ามีป้อมดินทั้ง 4 มุมเมือง และ
มีคลองส่งน้ำต่อเชื่อมกับคูเมืองโบราณบ้านจาเละสี่มุมเมืองด้านทิศเหนือ ทั้ง 2 ด้าน
          นอกจากร่องรอยของคูน้ำ-คันดินคูเมืองโบราณทั้ง 3 แห่งแล้ว ภายในกลุ่มเมืองโบราณนี้   ยังปรากฎซากโบราณสถานเนินดิน
กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่น้อยกว่า 30 แห่ง
          ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานในเมืองโบราณนี้ โดยเลือกดำเนินการในพื้นที่กลุ่ม
โบราณสถานบ้านจาเละซึ่งมีโบราณสถานรวม 5 แห่ง ได้ทำการขุดแต่งเสร็จแล้วบางแห่งและได้พบหลักฐานโบราณวัตถุที่สำคัญ  โดย
เฉพาะอย่างยิ่งโบรษรสถานบ้านจาเละ หมายเลข 3
          โบราณสถานบ้านจาเละหมายเลข 3 เป็นศาสนสถานก่อด้วยดิฐ มีฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุมเป็นมุขที่กึ่งกลางฐานและมุมฐาน
ทั้ง 4 ด้าน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนบนถากอิฐเป็นเสา และหน้าต่างลอกเลียนแบบอาคารไม้ บนลานประทักษิณมีรางระบายน้ำ
ทำด้วยหินทราย อาคารตอนบนเป็นรูปกากบาท ภายในเป็นห้องขนาดใหญ่พบชิ้นส่วนของพระพิมพ์ดินดิบ และสถูปจำลองดินเผาจำนวน
มากทั่วทั้งห้อง และกระจายหนาแน่นในบริเวณด้านหน้าของโบราณสถานลงมาถึงพื้นเบื้องล่าง
          พระพิมพ์ดินดิบ และสถูปจำลองดินเผาบางชิ้นปรากฏหลักฐานมีจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ เป็นคาถาเกี่ยวเนื่องกับ
พระพุทธเจ้า ซึ่งวัตถุต่างๆ เหล่านี้คงถูกสร้างขึ้นและนำมาบูชาไว้ ณ ศาสนสถานตามคติความเชื่อในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน นิกาย-
เจติยวาท ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ในสมัยคุปตะ และปาละ ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรณที่ 12 เป็นอย่างน้อย
และคงเจริญสืบต่อมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 ก่อนที่จะเสื่อมสลายไปในระยะเวลาต่อมา จนกระทั่งศาสนาอิสลามเข้ามาแทน
ที่  และได้รับความนิยมเป็นที่ยอมรับของประชาชนต่อเรื่อมาจนถึงปัจจุบัน   (สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 10
สงขลา กรมศิลปากร) top


   
       มัสยิดกรือเซะ    มัสยิดเป็นภาษาอาหรับ ชาวปัตตานีเรียกมัสยิดอีกชื่อหนึ่งว่า สุเหร่า ตามคำที่ได้รับถ่ายทอดมาจากชาว เมือง
มะนังกาเบาในเกาะสุมาตรา หมายถึง สถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม มัสยิดกรือเซะมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า มัสยิด"ปิตูกรือบัน"
เรียกตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแบบโคธิคของชาวยุโรป  (ช่องประตูแบบโคธิคนี้ นิยมกันมาแต่สมัยสมเด็จ-
พระนารายณ์มหาราช ;ปิตู=ประตู ; กรือบัน=ช่องประตูที่มีรูปโค้ง) และแบบสถาปัตยกรรมของชาวตะวันออกกลาง (สภาพก่อนบูรณะ
กว้าง 15.10 เมตร ยาว 29.60 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลมเลียนรูปลักษณะแบบเสาโคธิคของยุโรป อิฐที่ใช้ก่อมีลักษณะเป็นอิฐ
สมัยอยุธยาแต่ตรงฐาน มีอิฐรูปแบบคล้ายสมัยทราวดีปะปนอยู่บ้าง ; ภาพซ้ายมือ)  หนังสือสยาเราะห์ปัตตานีของนายหะยีหวันหะซัน
กล่าวว่า สุลต่านลองยูนุสเป็นผู้สร้าง ประมาณปีฮิจเราะห์ ๑๑๔๒ ตรงกับพุทธศักราช ๒๒๖๕ สมัยอยุธยาตอนปลาย เหตุที่ก่อสร้างไม่
เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่างสุลต่านลองยูนุสกับระตูปะกาลัน ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระองค์ หลังจากสุลต่าน-
ลองยูนุสสิ้นพระชนม์ ระตูปุยุดได้รับตำแหน่งสุลต่านเมืองตานีคนต่อมาได้ย้ายศูนย์การปกครองเมืองตานีไปตั้งอยู่ ณ บ้านปุยุด ปัจจุบัน
อยู่ในเขตท้องที่ตำบลปุยุด อ.เมืองปัตตานี บริเวณที่ตั้งวังของระตูปุยุดยังคงปรากฎเป็นร่องรอยกำแพงอยู่จนบัดนี้ จึงไม่มีผู้ใดคิดสร้าง
ต่อเติมมัสยิดอีก ทิ้งไว้รกร้าง
          บางตำนานเล่าลือกันสืบมาว่า  ผู้สร้างเป็นชาวจีนชื่อ เคี่ยม แซ่ลิ้ม เมื่อแต่งงานกับธิดารายา เมื่อเข้ารีตรับศาสนาอิสลาม ชาว
ปัตตานีเรียกว่า "ลิ้มโต๊ะเคี่ยม" ลิ้มกอเหนี่ยวน้องเดินทางมาตามพี่ชายให้กลับเมืองจีน เพื่อดูแลมารดาที่ชราตามประเพณีของชาวจีน
ด้วยลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นบุตรชายคนโต แต่พี่ชายไม่ยอมกลับ นางมีความน้อยใจที่อ้อนวอนพี่ชายไม่สำเร็จจึงทำ อัตตวินิบาตกรรม  แต่
ก่อนที่นางจะผูกคอตายนางได้ตั้งอธิษฐาน ขอให้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างมัสยิดไม่สำเร็จด้วยแรงแห่งคำสาปแช่ง ในกาลต่อมาลิ้มโต๊ะเคี่ยม
ได้พยายามทำการสร้างต่อเติมหลังคาและโดมถึง ๓ ครั้ง แต่ละครั้งมื่อก่อสร้างไปจวนจะเสร็จ ก็เกิดอสุนิบาตฟาดโดม และหลังคาพัง
ทลายลงมาทุกครั้ง จนกระทั่งปัจจุบันไม่มีใครกล้าสร้างต่อ คงเหลือไว้แต่ซากจนตราบเท่าทุกวันนี้
          มัสยิดกรือเซะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ มีการบูรณะหลายครั้ง ปัจจุบันนี้ทางราชการได้บูรณะ
มัสยิดแห่งนี้ให้ดีขึ้น โดยการปรับปรุงบริเวณโดยรอบแต่ลักษณะการก่อสร้างยังคงสภาพเดิมไว้ และได้สร้างรั้วล้อมรอบมัสยิดเอาไว้
ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
          มัสยิดกรือเซะตั้งอยู่หมู่ ๒ บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๖-๗ กิโลเมตรเศษ
มีบริเวณชิดติดต่อกับถนนสายปัตตานี-นราธิวาส top


          มัสยิดดาโต๊ะ ตั้งอยู่ที่สะบารังตันหยงหรือแหลมฝั่งตรงข้ามกับเมืองปัตตานีเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัสยิดดารุล-นาอีม เป็น มัสยิด
ที่มีความสำคัญต่อพ่อค้านักเดินเรือที่นับถือศาสนาอิสลามมาก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ เหมือน กับ
มัสยิดกรือเซะ และได้รับการบูรณะหลายครั้ง ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ ปัจจุบันจึงยังคงสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง top


          มัสยิดนัจมุดดิน (ควนลังงา) เดิมชื่อสุเหร่าบาโงยลางา (Banggol Labggar) สร้างประมาณปี พ.ศ.๒๑๐๐ เป็นสุเหร่าร่วมสมัย
กับมัสยิดตะโละมาเนาะ และสุเหร่าเอาห์ (นัดตันหยง อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี) ศิลปะการก่อสร้างแบบมลายูชวา สร้างโดยชุมชน
ท้องถิ่น สุเหร่าแห่งนี้มีพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเขียนมือซึ่งเป็นหญิงชราที่หนีภัยสงครามมาพำนักในหมู่บ้านแห่งนี้ ดังนั้นพระมหาคัมภีร์
อัลกุรอาน จึงได้ประดิษฐานในมัสยิดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน ประมาณ ๔๐๐ ปีล่วงมาแล้ว ชุมชนย้านปาเซปูเต๊ะ (บ้านทรายขาว)ได้ร่วมกัน
ริเริ่มสร้างสถานที่นมัสการพระผู้เป็นเจ้า จึงได้ปรึกษาหารือกับเจ้าอาวาสแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยออกแบบแปลนมัสยิด ประกอบกับยุคสมัยที่
ศาสนาอิสลามได้เป็นที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วหลังจากพญาตูนาคะแห่งราชอาณาจักรมลายูลังกาสุกะ ได้เปลี่ยนจากพุทธศาสนามาเป็น
กษัตริย์มุสลิมองค์แรกในนามสุลต่าน อิสมาอีลชาล์ แห่งราชอาณาจักรปาตานีคารุสลาลาม ฉะนั้น มัสยิดบูกิตบาโงยลางา (ควนลางา)
จึงมีศิลปะการก่อสร้างที่ได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสืบสานมรดกราชอาณาจักรลังกาสุกะ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างชื่อ ไม้แค (หรือ
กายูจีจา) ได้มาจากเทือกเขาสันกาลาคีรี บูกิตบือซา กระเบื้องอิฐแดงจากปัตตานี มัสยิดแห่งนี้จะคล้ายกับมัสยิดตะโละมาเนาะ และ
สุเหร่าอาโฮ นัดตันหยง ทั้ง 3 แห่งนี้มีความเหมือนกัน คือ ไม่ใช้ตะปูในการก่อสร้าง top


          พลับพลาที่ประทับ   เป็นพลับพลาที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ว่าการ
อำเภอโคกโพธิ์ และที่ตั้งของส่วนราชการต่างๆ ซึ่งแวดล้อมด้วยชุมชนขนาดใหญ่ จึงไม่มีปัญหาการทำลายจากชุมชน  มีเนื้อที่ประมาณ
1 ไร่ 8 ตารางวา ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2518
          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินมา
จังหวัดปัตตานีในปี พ.ศ.๒๔๗๒ โดยเสด็จฯ ทางชลมารค (เรือพระที่นั่งมหาจักรี) จากพระราชวังไกลกังวล ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม
พ.ศ.๒๔๗๒ คณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษและเยอรมัน ได้เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์มาติดตั้งกล้องเพื่อส่องสุริยุปราคาเต็มคราส
ที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งนักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นคำนวณว่า  ที่จังหวัดปัตตานีสามารถมองเห็นสุริยุปราคาเต็มคราสชัดเจนกว่าจังหวัดอื่นๆ
โดยคณะนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษได้ติดตั้งกล้องและอุปกรณ์บริเวณสนามหญ้าใกล้ศาลารัฐบาลมณฑลปัตตานี ส่วนนักดาราศาสตร์
ชาวเยอรมันได้มาติดตั้งกล้องและอุปกรณ์บนภูเขาหลังที่ว่าการอำเภอโคกโพธิ์  และทั้ง 2 คณะได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราช-
ดำเนินเพื่อทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มคราสในวันที่ 9 พฤษภาคม 2472 ส่วนของมณฑลปัตตานีในสมัยนั้นได้สร้างพลับพลาที่ประทับ
ของพระเจ้าอยู่หัวทั้งที่ปัตตานีและที่อำเภอโคกโพธิ์ และเมื่อถึงวันดังกล่าว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้เสด็จไปทั้ง 2 จุดแต่เนื่องจากบริเวณอำเภอ
โคกโพธิ์ขณะนั้นท้องฟ้ามืดครึ้มไม่สามารถมองเห็นสุริยคราสได้ชัดเจนพระองค์จึงเสด็จทอดพระเนตรที่ในตัวจังหวัดปัตตานี (บริเวณ
สนามโรงเรียนเบญจมราชูทิศ) top
จัดทำโดย....สำนักงานคลังจังหวัดปัตตานี    

วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

แหล่งท่องเที่ยวบ้านเรา


แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี
แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานี

 ปัตตานี เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ติดกับทะเลจีนใต้ หรืออ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 1,940.356 ตารางกิโลเมตร  มีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานี และ แม่น้ำสายบุรี ในอดีตจังหวัดปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากเคยมีฐานะเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรลังกาสุกะ ซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวไทยพุทธ
           ในพุทธศตวรรษที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รัฐกลันตัน กับรัฐตรังกานูในมาเลเซีย ปัจจุบันยังมีซากเมืองเก่าของปัตตานีในยุคนั้นปรากฏให้เห็นที่อำเภอยะรังในปัจจุบัน และจากการที่มีพื้นที่เป็นป่าเขา และมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเป็นระยะทางยาวประมาณ 170 กิโลเมตร จึงเป็นเมืองท่าที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการปกครอง การค้า และวัฒนธรรม มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวหลายด้าน ทั้งด้านธรรมชาติ โบราณสถานทางประวัติศาสตร์และด้านประเพณีวัฒนธรรม
           ปัตตานีแบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานี ยะรัง หนองจิก โคกโพธิ์ ยะหริ่ง ปะนาเระ มายอ สายบุรี กะพ้อ ไม้แก่น ทุ่งยางแดง และแม่ลาน

หลายวัฒนธรรม
    ใน...ปัตตานี

หาด วาสุกรี(ชายหาดบ้านปาตาตีมอ)             หาดวาสุกรี(ชายหาดบ้านปาตาตีมอ) อยู่ในเขตเทศบาลตำบลตะลุบั
การเดินทางจากตัวเมืองปัตตานี ใช้เส้นทางหลวงสายปัตตานี-นราธิวาส หรืออา จเลือกเดินทางผ่านหาดแฆแฆไปจนถึงอำเภอสายบุรีหรือเลี้ยวซ้ายตรงทางแยกเข้าสู่อำเภอสายบุรีโดยตรงก็ได้ ลักษณะของหาดทรายเป็นแนวยาวขนานไปกับทิวสน




วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม  วัดช้างให้ราษฎร์บูรณาราม ตั้งอยู่ที่บ้านป่าไร่ ตำบลทุ่งพลา ริมทางรถไฟสายหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ระหว่างสถานีนาประดู่กับสถานีป่าไร่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 31 กิโลเมตร การเดินทางใช้เส้นทางหลวงสาย 42 (ปัตตานี-โคกโพธิ์) ผ่านสามแยกนาเกตุ ตรงไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 409 (ปัตตานี-ยะลา) ผ่านชุมชนเทศบาลนาประดู่และศูนย์ฝึกอาชีพ (วัดช้างให้) ไปจนถึงทางแยกเพื่อเข้าสู่วัดช้างให้อีกประมาณ 700 เมตร วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมากว่า 300 ปีมาแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวิหารมีรูปปั้นหลวงปู่ทวดเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่ นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมของสถูป เจดีย์ มณฑป อุโบสถ และหอระฆัง ที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง


สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว          สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง ใกล้มัสยิดกรือเซะ มีตำนานเล่าว่าลิ้มกอเหนี่ยวได้ลงเรือสำเภามาตามพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม ซึ่งมาแต่งงานกับธิดาพระยาตานี และได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามกลับประเทศจีนไม่สำเร็จ จึงได้ผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงได้ฝังศพลิ้มกอเหนี่ยวไว้ที่นี่ ต่อมาชาวปัตตานี นำต้นไม้ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะเป็นรูปบูชาและสร้างศาลเจ้าขึ้น



มัสยิดกรือเซะ

           มัสยิดกรือเซะ ตั้งอยู่ริมถนนสายปัตตานี-นราธิวาสหรือทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๒ บริเวณบ้านกรือเซะ ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ ๗ กิโลเมตร ลักษณะการก่อสร้างมัสยิดแห่งนี้เป็นแบบเสากลมก่ออิฐปูนแบบศิลปะทางตะวันออกกลาง ส่วนที่สำคัญที่สุดคือหลังคาโดมซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จมัสยิดเก่าแห่งนี้มีตำนานเล่าว่าเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวสาปแช่งไว้ไม่ให้สร้างเสร็จ บริเวณใกล้เคียงนั้นมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมัสยิดแห่งนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ.๒๑๒๑–๒๑๓๖)
หาดแฆแฆ


          หาดแฆแฆ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 43 กิโลเมตร คำว่า “แฆแฆ” เป็นภาษามลายูท้องถิ่น (ภาษายาวี) มีความหมายว่า อึกทึกครึกโครม อยู่ในท้องที่ตำบลน้ำบ่อ ตั้งอยู่ห่างจากหาดราชรักษ์ประมาณ 2 กิโลเมตร จุดเด่นของหาดแฆแฆคือเป็นชายหาดที่มีโขดหินแกรนิตขนาดใหญ่ ลักษณะแปลกตาสวยงาม บนเนินเขามีศาลาพักผ่อนและเป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สวยแห่งหนึ่งของอำเภอปะนาเระ


สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์


           สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ตั้งอยู่ที่ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นสวนสาธารณะที่จัดสร้างขึ้นบริเวณริมทะเลสาบแม่น้ำปัตตานีฝั่งซ้าย ไปจนติดกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นสวนป่าชายเลนที่ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับทิวทัศน์สวยงามร่มรื่นจึงมีผู้นิยมไปพักผ่อนกันมาก






วันศุกร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556


ประวัติจังหวัดปัตตานี
           จากหลักฐานเอกสารโบราณของจีน อาหรับ ชวา มลายู และจารึกของชาวอินเดีย ที่ปรากฎ นามเมืองของรัฐสำคัญแห่งหนึ่งบนแหลมมลายู ซึ่งออกเสียงตามสำเนียงในแต่ละภาษา เช่น หลังยาซูว ,หลังยาซีเจีย (ภาษาจีน พุทธศตวรรษที่ 11-12 และ 16-18) ,ลังคาโศกะ ,อิลังกาโศกะ (ภาษาสันสกฤต ภาษาทมิฬ พุทธศตวรรษที่ 9 และพุทธศตวรรษที่ 16) ,เล็งกะสุกะ (ภาษาชวา พุทธศตวรรษที่ 20) ,ลังคะศุกา (ภาษาอาหรับ พุทธศตวรรษที่ 21) ,ลังกะสุกะ ,ลังกาสุกะ (ภาษามลายู พุทธศตวรรษที่ 24) (wheatly 1961 Sklling 1992:131; อมรา ศรีสุชาติ 2540;กรมศิลปากร 2540:10)
          ชื่อที่ปรากฏนี้ นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อเมืองเดียวกัน ที่เคยตั้งอยู่ในรัฐเคดะห์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย และจังหวัดปัตตานีในประเทศไทย แต่ในสมัยหลังศูนย์กลางของเมืองแห่งนี้น่าจะอยู่ในจังหวัดปัตตานี เนื่องจากชาวพื้นเมืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ยังกล่าวว่าเมืองปัตตานี พัฒนาขึ้นมาจากเมืองลังกาสุกะสอดคล้องกับตำนานเมืองไทรบุรีที่กล่าวว่า ราชามะโรงมหาวงค์ทรงสร้างลังกาสุกะบนฝั่งตะวันตกที่เคดะห์ และพระราชนัดดาของพระองค์ได้มาสร้างลังกาสุกะที่ปัตตานี ชาวพื้นเมืองปัตตานีเรียกบริเวณแถบนี้ว่าลังกาสุกะมา จนกระทั่งแม่น้ำปัตตานีเปลี่ยนทางเดิน (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี,2539:107)
       ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ชุมชนลังกาสุกะเริ่มเสื่อมลงไปเนื่องจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และศาสนาวัฒธรรมของชาวเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป นักวิชาการทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเชื่อว่า ปัตตานีเป็นที่แวะพักจอดเรือเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าระหว่างพ่อค้าชาว อินเดียทางตะวันตกกับพ่อค้าชาวจีนทางตะวันออก และชนพื้นเมืองบนแผ่นดินและตามหมู่เกาะใกล้เคียงต่าง ๆ นอกจากนั้นยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าปัตตานีเดิมเป็นอาณาจักรที่เก่าแก่ตามที่ปรากฎในเอกสารโบราณที่กล่าวมา (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป:2)
       หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงร่องรอยของความเจริญร่งเรืองในอดีตของปัตตานีที่บริเวณอำเภอยะรังเป็นซากร่องรอยของเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนทับกันถึง 3 เมือง มีซากเป็นโบราณสถานปรากฏอยู่ไม่น้อยกว่า 40 แห่ง ซากเนินโบราณสถานบางแห่งได้รับการขุดแต่งและอนุรักษ์ไว้ เช่น โบราณสถานบ้านจาเละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นซากอาคารศาสนสถานก่ออิฐที่มีการขัดแต่งประดับฐานชั้นล่าง ๆ และยังค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น สถูปจำลองดินเผ่า พระพิมพ์ดินดิบ และดินเผาบางชิ้นมีตัวอักษรซึ่งนักภาษาโบราณอ่านและแปลว่าเป็นอักษรปัลลวะ (อินเดียใต้) ภาษาสันสกฤตเขียนเป็นคาถาเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน พระโพธิสัตว์สัมฤทธิ์และเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ โบราณวัตถุเหล่านี้มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (กรมศิลปากร, 2535)
       สอดคล้องกับจดหมายเหตุจีนที่ได้กล่าวถึงไว้ นอกจากนั้นหลักฐานที่ได้ขุดค้นพบยังแสดงให้เห็นด้วยว่าบริเวณที่เป็นที่ตั้ง อำเภอยะรังในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีความเจริญทางวัฒนธรรมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียไว้อย่างเต็มที่ มีความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง เช่น บริเวณดินแดนภาคกลางของประเทศไทย และบริเวณคาบสมุทรอินโดจีนด้วย และคงจะเป็นชุมชนที่มีกิจกรรมสืบต่อเรื่อยมาจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 15 ก่อนที่อาณาจักรศรีวิชัยจะมีอำนาจรุ่งเรืองครอบคลุมคาบสมุทรมลายูในที่สุด (ภัคพดี อยู่คงดี,มปป.:2)
        นักภูมิศาสตร์เชื่อว่า เมืองโบราณขนาดใหญ่ที่บริเวณอำเภอยะรังนั้นหมดความสำคัญลงน่าจะมีเหตุผล ประการหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลช่วงระยะเวลา 1,000 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงไประดับหนึ่งมีผลทำให้ชายฝั่งทะเลถอยห่างออกไปจากเดิม ดังนั้น ที่ตั้งของชุมชนจึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นทำเลของการเป็นเมืองท่าค้าขายอีกต่อไป และนำมาซึ่งการย้ายที่ตั้งของเมืองในระยะเวลาต่อมา ซึ่งสัมพันธ์กับตำนานการสร้างเมืองปัตตานีที่กล่าวไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น Hikayat Patani:Story of Patani ของ A.Teeuw และ D.K.Wyatt:Sajaraj Kerajaan Melaya Patani หรือตำนานเมืองปัตตานีของ lbrahim Syukri เป็นต้น แม้ว่าจะไม่สามารถระบุระยะเวลากำเนิดของเมืองปัตตานีได้อย่างแน่ชัด แต่เมืองปัตตานีก็ได้ปรากฏชื่อและเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ
        ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นอย่างน้อย เมืองปัตตานี ได้ชื่อว่าเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ปลายแหลมมาลายู มีฐานะเป็นเมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) และอยู่ภายใต้อำนาจของกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา ในปี พ.ศ.2054 โปรตุเกสสามารถยึดครองมะละกาได้สำเร็จ และพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าขึ้นมาทางตอนเหนือของคาบสมุทรมาลายู ประกอบกับพระราชาธิบดีที่ 2 (พ.ศ.2034-2072) ทรงยินยอมให้โปรตุเกสเข้ามาตั้งสถานีการค้าในเมืองชายฝั่งทะเล เช่น นครศรีธรรมราช มะริด ตะนาวศรี รวมทั้งปัตตานีด้วย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นเมืองท่าหลักเมืองหนึ่ง เป็นที่ตั้งของสถานีการค้าของพ่อค้าทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก ทั้งชาวอินเดีย จีน และญี่ปุ่น สินค้าที่สำคัญของเมืองปัตตานียุคนั้น ได้แก่ ไม้กฤษณา ไม้ฝาง เครื่องเทศ ของป่า งาช้าง และนอแรด นอกจากนี้ปัตตานียังเป็นจุดรับส่งสินค้าของนานาชาติ เช่น เครื่องถ้วยชาม อาวุธ ดินปืน ดีบุก และผ้าไหม (สถาบันทักษิณคดีศึกษา: 2529